Search

“Dunkel VS Stout” เบียร์ดำเหมือนกัน เอ้ะ ! มันต่างกันยังไง ?

เบียร์ดำดุงเกิล คาราบาว Dunkel Carabao
วันก่อนเราเพิ่งได้ดูคลิปที่พี่เถียร (หรือคุณเสถียร เสถียรธรรมะ ผู้ก่อตั้งโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง) พูดเรื่องราวเกี่ยวกับเบียร์ Lager ไม่ว่าจะเป็นประวัติความเป็นมา เรื่องราวของเบียร์ Lager

ส่วนในคลิปต่อมาที่พี่เถียรเพิ่งปล่อยออกมาเลย ก็เป็นเรื่องราวของเบียร์ดำที่เราชื่นชอบส่วนตัวพอดี ตัวเบียร์ดำ Dunkel ก็ไม่ได้หากันง่าย ๆ สักเท่าไหร่…

วันนี้พวกเรา InfoStory เลยได้ไอเดีย ขอหยิบเกร็ดสาระความรู้เกี่ยวกับเบียร์ดำที่หน้าตาคล้ายกัน “Dunkel” และ “Stout” เบียร์ดำเหมือนกัน แต่อันที่จริงมันแตกต่างกันนะ !

ปล. ที่เรียกพี่เถียรนี่…เราไม่ได้ถือวิสาสะเรียกเองแต่อย่างใด หากเพื่อน ๆ ตามไปดูคลิปก็จะได้รับชมทั้งสาระและความเป็นกันเองของพี่เถียรคร้าบ (มีแปะลิ้งให้ท้ายบทความนะ)

[ Dunkel : เบียร์ลาเกอร์เยอรมันที่มีสีเข้ม ]

Dunkel (ดุงเกล) เป็นเบียร์ที่มีต้นกำเนิดจากประเทศเยอรมนี โดยคำว่า “Dunkel” ในภาษาเยอรมันแปลว่า “มืด” ซึ่งสะท้อนถึงลักษณะของเบียร์ที่มีสีเข้ม กล่าวคือเป็นสีน้ำตาลเข้มจนเกือบเป็นสีดำ นั่นเองคร้าบ

เพื่อน ๆ ทราบไหมว่า ?

ตัวเบียร์ Dunkel ถึงแม้จะเป็นสีเข้ม แต่เบียร์ตัวนี้ถูกจัดอยู่ในกลุ่มเบียร์ประเภทลาเกอร์ (Lager) ซึ่งเป็นการหมักแบบจม (bottom ferment) ที่ใช้อุณหภูมิต่ำ โดยยีสต์จะหมักที่ก้นถัง แน่นอนว่ารสสัมผัสเขาก็มีความคล้ายกับตัวลาเกอร์อยู่เหมือนกัน

ถ้าถามถึงต้นกำเนิดของเบียร์ Dunkel เพื่อน ๆ คงพอจะเดากันได้ว่าน่าจะมาจากเยอรมนีเนอะ

ต้นกำเนิดของเบียร์ดุงเกลอาจย้อนไปได้ถึงศตวรรษที่ 16 ซึ่งเป็นช่วงที่เบียร์ประเภทนี้เป็นที่นิยมในแคว้นบาวาเรีย โดยเฉพาะในเมืองมิวนิค เนื่องจากชาวบ้านเยอรมันเองยังไม่เชี่ยวชาญการผลิตเบียร์กันสักเท่าไหร่.. โดยเฉพาะการคั่วมอลต์ ที่บางครั้งอาจจะคั่วเกินพอดี แต่บังเอิญผลิตเบียร์ออกมาอร่อย (สีมันเลย ออกมามีสีเข้ม)

อย่างไรก็ดี ในการผลิต Dunkel ในช่วงแรกๆ ได้รับการควบคุมตามกฎหมาย Reinheitsgebot หรือกฎหมายความบริสุทธิ์ของเบียร์ที่ออกในปี ค.ศ. 1516 ซึ่งกำหนดให้เบียร์ต้องผลิตจากน้ำ มอลต์ ฮ็อปเท่านั้น และในภายหลังได้มีการเพิ่มยีสต์เข้ามาด้วย การควบคุมนี้ทำให้ Dunkel มีคุณภาพและเอกลักษณ์เฉพาะตัวของเบียร์เยอรมันที่ยังคงรักษามาจนถึงปัจจุบัน นั่นเองคร้าบ

เบียร์ Dunkel มีการใช้มอลต์คั่วที่ทำให้เกิดรสชาติที่หลากหลาย เช่น รสชาติของขนมปังปิ้ง คาราเมล และช็อกโกแลต รสชาติที่ได้จึงมีความหวานเล็กน้อยและไม่ขมเกินไป

สำหรับฮ็อปที่ใช้มีความเข้มข้นปานกลาง ไม่แตกต่างไปจาก Lager โดยปริมาณแอลกอฮอล์ของ Dunkel จะอยู่ที่ประมาณ 4.0-5.5%

ประเภทของเบียร์ดำ Dunkul ยอดนิยม

– Münchner Dunkel อาจเรียกว่าเป็นตัวคลาสสิกของเบียร์ดุงเกิลเลย เพราะต้นกำเนิดจากเมืองมิวนิค สีเข้มตั้งแต่น้ำตาลถึงแดงเข้ม

– Weizen Dunkel สังเกตได้จากตัวสีที่อาจไม่เข้มเท่า Dunkel แบบทั่วไป เพราะตัวนี้จะเป็นการใช้มอลต์ข้าวสาลีแบบคั่วผสมผสานลงไป มีกลิ่นผลไม้นำ แต่ว่าตัวนี้จะเป็นการใช้ยีสต์หมักแบบลอยเหมือน Ale

– Dunkles Bock เป็นเบียร์ Dunkel ที่มีปริมาณแอลกอฮอล์สูงกว่า 6% และยังมีสีเข้ม ตั้งแต่น้ำตาลไปจนถึงสีดำ แรกเริ่มเดิมทีชาวเยอรมันเขาใช้มอลต์สีเข้มโดยที่ไม่ขัดสี (เว้นแต่ตัว helles bock ที่จะเริ่มมีสีอ่อนนะคร้าบ)

[ Stout (สเตาต์) : ต้นตำรับความเข้มของเบียร์ดำจากแดนผู้ดี ]

Stout (สเตาต์) เป็นอีกหนึ่งเบียร์ดำ ที่ไม่ได้เหมือนกับ Dunkel นะ โดยต้นกำเนิดมาจากประเทศอังกฤษ โดยพัฒนามาจากเบียร์ประเภท Porter ในช่วงศตวรรษที่ 18 ในยุคนั้น เบียร์ Porter เป็นที่นิยมอย่างมากในหมู่ชนชั้นแรงงานในลอนดอน

คำว่า “Stout” มีความหมายว่าความแข็งแกร่ง ซึ่งก็คือรสสัมผัสที่เข้มข้นมากกว่าและมีปริมาณแอลกอฮอล์ที่สูงกว่าเอลทั่วไป

สีดำเข้มของเบียร์ Stout จะคล้ายกับสีเข้มของ Dunkel คือเกิดจากการใช้มอลต์คั่ว แต่จะคั่วจนไหม้ โดย Stout นั้นอยู่ในกลุ่มเบียร์ประเภทเอล (Ale) ซึ่งใช้การหมักแบบยีสต์ลอย (top ferment) ยีสต์จะทำการหมักที่ผิวน้ำเบียร์ ทำให้เกิดรสชาติที่ซับซ้อนมากกว่าการหมักแบบจมของ Dunkel

ประเภทของเบียร์ดำ Stout ยอดนิยม

– Irish Stout มีต้นกำเนิดจากไอร์แลนด์ รสชาติเข้มข้นของมอลต์คั่ว มีจุดเด่นในเรื่องของกลิ่นกาแฟและช็อกโกแลตเข้มข้น

– Chocolate Stout ใช้มอลต์คั่วที่ให้กลิ่นและรสช็อกโกแลต บางครั้งอาจเพิ่มช็อกโกแลตจริงๆ ลงไป หรือถ้ามีการผสมนมก็จะเป็น Milk Stout หรือ ข้าวโอ้ต

– Imperial Stout สเตาต์สุดเข้มข้นทั้งรสสัมผัสและปริมาณแอลกอฮอล์ที่สูงถึง 8-12% เบียร์ชนิดนี้นิยมบ่มในถังไม้เพื่อเพิ่มความลึกซึ้งของรสชาติ

[ สรุปสั้น ความแตกต่างระหว่างเบียร์ดำทั้งสอง “Dunkel” vs “Stout” ]

1. กระบวนการหมัก

Dunkel ใช้ยีสต์หมักนอนก้น (Bottom Ferment) จัดอยู่ในกลุ่ม “Lager” ใช้ยีสต์ประเภท saccharomyces pastorianus ในการหมัก

Stout โดยใช้ยีสต์หมักลอยผิว (Top Ferment) จัดอยู่ในกลุ่ม “Ale” ใช้ยีสต์ประเภท saccharomyces cerevisiae ในการหมัก

2. สีและกลิ่น

Dunkel มีสีเข้มที่ออกน้ำตาลแดง มีกลิ่นหอมของคาราเมลและขนมปัง

ชวนอ่านเพิ่มเติม -  ชวนรู้จักอาหารแปรรูปสูง "Ultra Processed Food" - ฉบับมือใหม่

Stout มีสีดำเข้มจากมอลต์คั่ว และมีกลิ่นที่เข้มของกาแฟและช็อกโกแลต Dunkel มีความหอมที่นุ่มนวลกลมกล่อม ในขณะที่ Stout มีความหนักแน่นของกลิ่นคั่วและความเข้มของกาแฟที่ชัดเจน

3. รสสัมผัส

Dunkel มีความขมที่ไม่มากเท่า Stout ออกแนวเบาบางคล้าย Lager

Stout มีรสขมที่เด่นชัด อาจมีกลิ่นของกาแฟและช็อกโกแลตที่ชัดเจน

4. ปริมาณแอลกอฮอล์

Dunkel มีแอลกอฮอล์ประมาณ 4.0-5.5%

Stout สามารถมีปริมาณแอลกอฮอล์ตั้งแต่ 4.0% จนถึงสูงกว่า 10%

[ แล้วทำไมเราถึงไม่ค่อยคุ้นหูกับเบียร์ดำ Dunkel ? ]

จากคลิปเรื่องเบียร์ Lager ของพี่เถียร เราพอจะสรุปใจความได้ว่า ตลาดเบียร์ในประเทศไทย เป็นตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ใหญ่ที่สุด มีมูลค่าถึง 2.6 แสนล้านบาท แต่ความนิยมของคนไทยจะเป็นตัวเบียร์ Lager ด้วยความบางเบา แอลกอฮอล์ไม่สูง

อีกหนึ่งเหตุผลที่สำคัญคือ ผู้ผลิตเจ้าใหญ่ในไทยไม่กี่ราย ผลิตแต่เบียร์ Lager ที่อาจเสมือนผูกขาด เพราะ ทั้ง 2 บริษัทใหญ่มีส่วนแบ่งในตลาดเบียร์กว่า 95% เลยทีเดียว (ตัวเลขตรงนี้เราก็เพิ่งทราบเช่นกัน แต่ถามว่าแปลกใจไหม..ก็ไม่ได้แปลกใจสักเท่าไหร่ แห่ะ ๆ )

*หมายเหตุ : บทความนี้มีจุดประสงค์เพียงต้องการให้ความรู้เกี่ยวกับประวัติต้นกำเนิดและประเภทของเบียร์ดำเพียงเท่านั้น การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือสุราเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลกระทบต่อสุขภาพร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการขับขี่ยานพาหนะก่อให้เกิดปัญหาทั้งต่อผู้ดื่มเอง ครอบครัว และสังคม

แหล่งอ้างอิงเพิ่มเติม

– ขอขอบพระคุณข้อมูลดีดีจากเครื่องดื่มคาราบาว และตะวันแดง