Search

ชวนส่องความเหมือนที่แตกต่าง “Carbonara Cream vs Italian Carbonara

Carbonara Italian vs America InfoStory.

เรื่องของเรื่องที่นึกสงสัยเรื่องนี้ก็คือ เมื่อ 2 ปีก่อนเราไปเที่ยวอิตาลีกับเพื่อน แล้วหาร้านคาโบนาร่าเจ้าเด็ดในกรุงโรมกัน ก็ไปเจอร้านที่เชฟเขาผัดในหม้อดินเลย หน้าตาก็น่ากินมาก แต่ว่าเพื่อนเราดันบอกว่า มันเลี่ยนไปหน่อย อยากให้เค้าใส่ครีมมากกว่านี้ 😂 โชคดีที่เพื่อนไม่ได้พูดออกไป ไม่งั้นโดนกระทะฟาดหน้าแน่เลย 🤣

เพราะว่าก่อนมาเที่ยว น้องชายเพื่อนที่อาศัยอยู่ต่างประเทศเคยบอกไว้ล่วงหน้าแล้วว่า คาโบนาร่าสูตร original จริง ๆ เค้าไม่ใส่ครีมกัน(โว้ย) เป็นแค่ชีสและไข่แดง แล้วก็ต้องเป็นแก้มหมูด้วยนะ ไม่ใช่แฮม… และน้องเพื่อนก็สอนมารยาทเรื่องอาหารเอาไว้เยอะพอสมควร 😋

ทีนี้ปัญหาก็เกิดหลายครั้ง ถ้าเราไม่ได้ไปร้านอาหารอิตาลีจ๋า ๆ เลย ก็จะไม่ค่อยเจอคาโบนาร่าสูตรเข้มข้นดั้งเดิม (อาจเพราะทำยากกว่า และรสสัมผัสไม่ถูกปาก แบบแนวเพื่อนเรา)

งั้นในโพสนี้ พวกเรา InfoStory ขอพาเพื่อน ๆ ไปอ่านแบบสบายสมองเกี่ยวกับเรื่องราวของคาโบนาร่ากัน ทั้งสูตรดั้งเดิมอิตาเลี่ยนและสูตรของพี่อเมริกา

Table of Contents

[ หากนึกถึงเมนู Carbonara ก็ต้องนึกถึงอิตาลี 🍝🇮🇹 ]

Carbonara Italian Infostory

คาร์โบนาราเกิดขึ้นในกรุงโรม ประเทศอิตาลี ช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 20 ซึ่งก็เกิดมาพร้อมๆกับพาสต้าสไตล์โรมันจากกรุงโรมอื่น ๆ เช่น Cacio e Pepe (ชีสกับพริกไทยดำ) Gricia (พาสต้าใส่กวนชาเล่และชีส) Amatriciana (พาสต้าใส่ซอสมะเขือเทศและกวนชาเล่)

แต่เรื่องราวต้นกำเนิดของคาโบนาร่า จะค่อนข้างหลากหลายซะหน่อย

ว่ากันว่าชื่อของเมนูนี้มีชื่อเรียกมาจากชื่อ “Carbonaro” ในภาษาอิตาลี ซึ่งแปลว่า คนเผาถ่าน ที่เชื่อว่าเป็นกลุ่มผู้คิดค้นเมนูพาสต้าจานนี้ เพราะเป็นเมนูที่คนเผาถ่านในป่าหรือบนภูเขาทำได้เพราะใช้ส่วนผสมที่เก็บได้นาน เช่น ชีสและกวนชาเล่

นอกจากเรื่องราวของคนเผาถ่านแล้วเนี่ย ก็มีเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มสมาคมลับ Carbonari สมาคมลับที่มีบทบาททางการเมืองในอิตาลีช่วงศตวรรษที่ 19 อาจเป็นแรงบันดาลใจให้กับชื่อเมนูนี้

และก็ยังมีเรื่องราวเกี่ยวกับพริกไทยดำที่โรยบนหน้าจานพาสต้าอาจดูเหมือน “ผงถ่าน” ซึ่งเป็นอีกหนึ่งทฤษฎีเกี่ยวกับที่มาของชื่อ

เอ้อ พอพูดถึงพริกไทยดำแล้วเนี่ย ก็เลยไปอ่านมาจนเจออีกหนึ่งความเป็นไปได้(ที่ไม่รู้จบ)ของต้นกำเนิดคาโบนาร่า (เริ่มไปเรื่อยละ5555 😅)

ต้นกำเนิดของคาร์โบนารายังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ (ว่าแต่ใครจะไปเถียงกับพี่ ๆ กันน้า 🙂‍↔️)
ชาวอิตาลีบางคนเชื่อว่าเมนูนี้มีความเชื่อมโยงกับ “พาสต้า คาโช เอ อูโว” (pasta cacio e uova) ซึ่งเป็นเมนูพาสต้าของชาวเนเปิลส์ที่คลุกเคล้ากับลาร์ดละลาย ไข่ดิบตี และชีส เมนูนี้ถูกบันทึกไว้ในตำราอาหารของอิปโปลิโต คาวาลคานติ (Ippolito Cavalcanti)

หรืออีกเมนูนึงที่ว่าเป็นรากฐานของคาโบนาร่าอย่าง “Cacio e pepe” ที่ขาวอเมริกันชอบแซวว่า มันก็คือคาโบนาร่าที่ไม่ใส่ไข่นะแหละ แต่ถ้าเราไปเสิร์ชดูแล้ว ลองเสิร์ชพวก “Pasta diagram” เราก็จะพบหลายแหล่งที่มาก็สรุปสั้น ๆ ให้มีใหม่เราเข้าใจง่าย ๆ ประมาณว่า “Cacio e pepe” ใส่ไข่ ก็เป็น Carbonara แต่ถ้าเปลี่ยนมาใส่ซอสมะเขือเทศก็เป็น Amatriciana

[ หากนึกถึง Carbonara ก็ต้องนึกถึงอิตาลี…คงไม่เสมอไปสินะ 🍝🇺🇲 ]

Carbonara Cream Infostory

มาต่อกันเลย !

จากคาโบนาร่าแห่งกรุงโรมแล้ว เรื่องราวที่มันเชื่อมโยมกันเนี่ย ด้วยความที่มันเกิดขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 20 มันเลยทำให้มีชาวฝรั่งที่เชื่อในทฤษฎีที่เชื่อมโยงกับการปลดปล่อยกรุงโรมในปี 1944 ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยทหารอเมริกันได้นำเสบียงไข่และเบคอนมาผสมกับเมนูอาหารอิตาเลียนที่มีอยู่อย่างจำกัดในขณะนั้น แล้วก็มีสื่อที่สนับสนุนทฤษฎีนี้คือการอ้างอิงถึงคาร์โบนาราครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ La Stampa ในปี 1950 ซึ่งระบุว่าเป็นเมนูที่ได้รับความนิยมในหมู่ทหารอเมริกัน ไม่นานหลังจากนั้น คาร์โบนารายังปรากฏในหนังสือ “Italian Food” ของเอลิซาเบธ เดวิด (Elizabeth David) ในปี 1954 อีกด้วย

รวมไปถึงนักชิมอาหารชาวอิตาลีชื่อดังอย่าง เวโรเนลลี (Veronelli) ยืนยันถึงการใช้ครีมในคาร์โบนาราในผลงานเขียนของเขา เช่น หนังสือ “In Cucina con Allegria” ที่ตีพิมพ์ในปี 1971 อีกด้วย และเชฟชื่อดังอย่าง กวาลเทียโร มาร์เคซี (Gualtiero Marchesi) ก็ไม่ปฏิเสธคาร์โบนาราที่ใช้ครีมสด ในผลงานซีรีส์ปี 1989 ของเขา “La Cucina Regionale Italiana”

เอ๊า ไปกันใหญ่ของจริง…. 🥶
สำหรับเราแค่อร่อยก็แล้วมั้ยนะ 🤣

🇺🇲 แต่พอเราพูดถึงอเมริกาแล้วเนี่ย แน่นอนว่าทุกสิ่งมันจะต้องหมุนเวียนไปทางที่รับประทานง่าย สะดวก และเข้ากับไลฟสไตล์ของชาวอเมริกัน (อเมริกันเฟิร์ส..! พี่ทรัมป์บอก.. เย้ยยย ม่ายเกี่ยว😆)

เอาเป็นว่า หลายแหล่งอ้างอิงเขาจะกล่าวถึงชาวอเมริกันว่าเป็นผู้ดัดแปลงเมนูนี้เนอะ

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ทหารอเมริกันที่อยู่ในอิตาลีได้ลิ้มรสคาร์โบนารา(แบบดั้งเดิม) และชื่นชอบรสชาติของอาหารจานนี้ เมื่อกลับบ้าน พวกเขานำสูตรนี้กลับไปที่อเมริกา แต่ปรับเปลี่ยนให้เข้ากับวัตถุดิบและวิธีการปรุงที่หาได้ง่ายในประเทศของตน หรือเอาง่าย ๆ ก็คือสูตรที่ดัดแปลงในสงครามนะแหละ ที่ใช้ไข่ผงและเบคอน กลายเป็นวัตถุดิบหลักในช่วงแรก ๆ ก่อนที่จะมีการดัดแปลงโดยเพิ่มครีมสด เพื่อเพิ่มความทานง่ายลงในสูตร

ซึ่งในอเมริกาเนี่ยการใส่กระเทียม หอมหัวใหญ่ หรือแม้แต่เห็ดลงในคาร์โบนารา ก็เริ่มเป็นที่นิยมพอสมควร (ก็คล้าย ๆ คาโบนาร่าสูตรร้านสเต๊กไทยข้างบ้าน)

[ 68% ของชาวอิตาลี รับไม่ได้กับเมนูคาโบนาร่าครีม ? 🇮🇹😅 ]

เราไปหาอ่านจากเว็บ Why Italian ? มา แล้วเจอผลเซอ์รเวย์ที่น่าสนใจคือ เขาไปเซอร์เวย์ชาวอิตาลีมาว่า ถ้าคาโบนาร่าใส่ครีม จะยังทานกันอยู่ไหม ? ผลโหวตก็คือ

– 68% รับไม่ได้ฟร้อย ! 🤌
– 23 % รับได้ทานได้ 👌
– 9% ไม่ออกความเห็น 🥲

แล้วที่น่าทึ่งไปกว่านั้นคือ (จากเว็บนี้ละนะ) เขาบอกว่า รู้ไหมว่าช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เนี่ย หนึ่งในเมนูยอดฮิตติดเทรนด์ของในประเทศอิตาลี ก็คือคาโบนาร่าสูตรครีมนี่ละ ! (แล้วก็มีแอบแซวว่า แหม..ทำไมจู่ ๆ จะมาทำเป็นรับไม่ได้กันละ ?)

แต่สำหรับเราแล้ว เราชอบสูตรเข้มข้นของอิตาลี มันแตกต่างออกไปเลยละ และรสสัมผัสคาโบนาร่าหม้อดินที่กรุงโรมชามนั้น ก็ยังคงติดปากติดจมูกของเราอยู่เลย 🥰

ชวนอ่านเพิ่มเติม -  "เนื้อดิบ" เหมือนกัน แต่วิธีนำเสนอแตกต่างกัน

แหล่งอ้างอิงเพิ่มเติม
– หนังสือ Gennaro’s Pasta Perfecto! เขียนโดยเชฟอาหารอิตาลี Gennaro Contaldo
– บทความ Carbonara: Origins and Anecdotes of the Beloved Italian Pasta Dish จากเว็บ lacucinaitaliana
– บทความ Cream or no cream จากเว็บ taste
– บทความ I nearly fainted at the sight of the cream. How can you call that carbonara จากเว็บ The irish time
– บทความ Carbonara’s Creamy Past: How Italy’s Palate Pivoted? จากเว็บWhy Italian ?
– บทความ The Controversial Difference Between American And Italian Carbonara จากเว็บ foodrepublic