Search

ชวนรู้จักอาหารแปรรูปสูง “Ultra Processed Food” – ฉบับมือใหม่

Ultraprocessfood1 Infostory
เกริ่นมาซะยาวเลย เพราะโพสนี้เป็นโพสอัลบั้มเลยขอจัดยาว ๆ หน่อยนะคร้าบ 🙏🥰
วันนี้พวกเรา InfoStory ขอพาเพื่อน ๆ ไปรู้จักเจ้า Ultra Processed Food (UPF) อันนี้กัน จะเป็นตัวร้ายหรือพระเอกในอุตสาหกรรมอาหารกันนะ
เนื่องจากหัวข้ออาจจะชวนง่วงได้ง่าย ในโพสนี้เราขอใช้รูปแบบการเขียนสไตล์เพื่อนนั่งเล่าให้ฟังขั้นสูง (UPF ที่แปลว่า Ultra process friend แทน… เย๊ยยย !) สำนวนอาจแปร่ง ๆ นิดนึง แต่น่าจะชวนให้เพื่อน ๆ อ่านไปพร้อม ๆ กับเราแล้วไม่หลับได้ง่ายขึ้น 🥰
ที่สำคัญคือ ฟังหูไว้หูกันด้วยนะเพื่อน ๆ อย่าเชื่อทุกสิ่งจากทุกสื่อไปหมดนะ
 
 

Table of Contents

[ Ultra Processed Food (UPF) คืออะไรหว่า ? ]

Ultra Processed Food ในโพสนี้เราขอเรียกเค้าในชื่อว่า “UPF” นะ หรือ อาหารแปรรูปขั้นสูง อาหารที่ผ่านกระบวนการแปรรูปมากเป็นพิเศษ
“มากพิเศษ” ในที่นี้คือ อาหารที่ถูกเปลี่ยนแปลงโครงสร้างดั้งเดิมของวัตถุดิบจากธรรมชาติ ผ่านกระบวนการผลิตที่ซับซ้อน โดยใช้ส่วนผสมหลากหลายและเทคนิคในการแปรรูปเพื่อยืดอายุการเก็บรักษา เพิ่มรสชาติ สีสัน และรูปลักษณ์ที่น่าดึงดูด ตัวอย่างอาหารแปรรูปขั้นสูง เช่น ขนมกรุบกรอบ เครื่องดื่มรสหวาน บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และขนมปังที่มีส่วนผสมสังเคราะห์หลายชนิด
อัยหย๊า ใกล้ตัวเลยเนอะ…🥴

[ ว่าแต่…ทำไม UPF ถึงเป็นที่นิยมในปัจจุบัน ? ]

เราขอแบ่งออกเป็น 2 มุมมอง คือ ผู้ผลิต(ธุรกิจ) และผู้บริโภค
1. สรุปในมุมมองของธุรกิจ ผู้ผลิต
– ต้นทุนการผลิตต่ำ กำไรต่อชิ้นสูง
– ระยะเวลาเก็บรักษานาน
หัวใจสำคัญของอาหารแปรรูปขั้นสูง คือการพัฒนาขึ้นเพื่อเพิ่มความสะดวกสบายในการบริโภค ยืดอายุการเก็บรักษา และลดต้นทุนในการผลิต ซึ่งมักส่งผลให้ Ultra Processed Food มีราคาถูกและเข้าถึงง่าย นอกจากนี้ ยังถูกออกแบบมาให้มีรสชาติที่อร่อยมาก เพื่อกระตุ้นการบริโภคซ้ำ (ว่าง่าย ๆ คือกระตุ้นความหิวเรานะแหละ แบบว่าติดใจงัยยย 🤭)
.
2. สรุปในมุมผู้บริโภค
– ความสะดวก รวดเร็ว ราคาถูก
– รสชาติหลากหลาย ถูกปาก อร่อย
แน่นอน มนุษย์วัยทำงานอย่างเราจะต้องการอะไรไปมากกว่า การได้อิ่มท้องในเวลาที่เร่งรีบ ต่อให้ไม่เร่งรีบก็แพ้ให้กับความขี้เกียจเตรียมอาหารเอง… เอามาเวฟเสร็จ ๆ ง่ายกว่า 🤣
แถมยังอร่อยอีกด้วย แน่นอนว่าปริมาณน้ำตาล และเกลือในปริมาณสูง ซึ่งทำให้รสชาติเข้มข้นกว่าที่มันควรจะเป็น อูมามิสุดๆ
อีกสาเหตุสำคัญที่เราเป็นอยู่คือ ต้นทุนของอาหารที่ไม่ใช่ UPF ค่อนข้างสูง + ความขี้เกียจสูง หากมาคำนวนค่าใช้จ่ายในมื้ออาหารแล้วเนี่ย แพงกว่ากันเยอะเลย.. (ทีซื้อรองเท้าละซื้อได้ แต่ไม่ยอมเอามาลงกับอาหารและสุขภาพเนอะ 😂 เขียนไปก็ประหลาดใจตัวเองเหมือนกัน)
Ultraprocessfood 2 Infostory

รู้ตัวอีกที "Ultra Processed Food" ก็อยู่ในชีวิตประจำวันไปซะแล้ว - A day in a life with “UPF" 🤔

โอเค ในภาพนี้ พวกเราอยากให้เพื่อน ๆ เข้าใจถึงหน้าตาของน้อง Ultra Processed Food กันมากขึ้น โดยจะขอยกตัวอย่างในอาหารแต่ละกลุ่มให้นะคร้าบ

กลุ่มที่ 1 – Real Food/Whole Food

อาหารที่อยู่ในรูปแบบดั้งเดิมตามธรรมชาติ ไม่มีการเติมสารปรุงแต่งหรือการแปรรูป
พวกนี้ก็คือของสดใหม่ ว่าง่าย ๆ คือ มีราคาสูง เก็บได้ไม่นาน ความอร่อยก็ขึ้นอยู่กับรสของสิ่งนั้นจริง ๆ เลย แต่ในขณะเดียวกัน จะมีคุณค่าทางโภชนาการที่สูงมาก

กลุ่มที่ 2 – Processed Food

อาหารที่ผ่านการแปรรูปเพื่อเพิ่มอายุการเก็บรักษา ปรับปรุงรสชาติ หรือทำให้ใช้งานง่ายขึ้นในชีวิตประจำวัน กระบวนการแปรรูปเบื้องต้นนี้อาจรวมถึงการต้ม การอบ การหมัก การใส่เกลือ หรือการแช่แข็ง แต่ยังคงรักษาโครงสร้างและสารอาหารส่วนใหญ่ไว้ได้

อย่างเช่น การพาสเจอร์ไรส์ในนม (หรือการฆ่าเชื้อด้วยความร้อน) ช่วยลดการปนเปื้อนของเชื้อโรคก็ถือเป็นอาหารแปรรูปเรียบร้อยแล้ว 😱 (ฟังดูเว่อร์ดีเนอะ แต่มันไม่ได้ขนาดน้าน)

กลุ่มที่ 3 – Ultra Processed Food

ตัวเอกในบทความของเรา เจ้า UPF อาหารแปรรูปขั้นสูง ขอเรียกว่าขั้นกว่าของการแปรรูปอาหารที่ถูกปรุงแต่งเพื่อเอาใจผู้บริโภคและการตลาด

ซึ่งถ้าเราหาจากหลายแหล่งอ้างอิง ส่วนใหญ่จะพูดถึงเรื่องโทษของเขาเสียมากกว่าเนอะ ว่าก่อให้เกิดโรคเรื้อรังต่าง ๆ (ไม่เชื่อลองเสิร์ชดูเบย ฮืออ 🥲 ) แต่ว่ามันยังไม่มีผลการยืนยันแบบ 100% นะ อาจจะเข้าทางที่ว่า กันไว้ดีกว่าแก้ไข


🔎 ยกตัวอย่างให้เห็นภาพกันชัดขึ้นสักนิด ]

1. เมล็ดกาแฟ > กาแฟดำ > กาแฟดำกระป๋อง ☕

– เมล็ดกาแฟ (Real Food/Whole Food)

เมล็ดกาแฟที่ยังไม่ได้ผ่านการแปรรูปใด ๆ นอกจากการเก็บเกี่ยวและการตากแห้ง ยังคงอยู่ในสภาพดั้งเดิม ไม่มีการเติมสารใด ๆ

– กาแฟดำ (Processed Food)

เมล็ดกาแฟถูกคั่วและบด จากนั้นนำไปชงเป็นกาแฟดำ มีการแปรรูปเล็กน้อยเพื่อทำให้ดื่มได้สะดวก แต่ไม่มีการเติมน้ำตาลหรือสารปรุงแต่งเพิ่มเติม เป็นกาแฟในรูปแบบธรรมชาติที่คงรสชาติและกลิ่นของกาแฟอย่างแท้จริง

– กาแฟดำกระป๋อง/กาแฟลาเต้/กาแฟคาปูชิโน่ (Ultra Processed Food)

กาแฟในรูปแบบนี้ถูกบรรจุกระป๋องพร้อมดื่มและมักมีการเติมน้ำตาล สารให้ความหวาน สารกันบูด และบางครั้งอาจมีการปรุงแต่งรสอื่น ๆ เพื่อให้เก็บรักษาได้นาน กลายเป็นเครื่องดื่มที่ไม่ใช่กาแฟธรรมดาอีกต่อไป


2. ผลโกโก้ > ช็อกโกแลตแท่ง > ช็อกโกแลตแท่งผสมรสปรุงแต่ง

– ผลโกโก้ (Real Food/Whole Food)
อันนี้เช่นเดียวกับเมล็ดกาแฟ

– ช็อกโกแลตแท่ง (Processed Food)

เมล็ดโกโก้ถูกนำมาผ่านการบดและแปรรูปเป็นช็อกโกแลตแท่ง อาจมีการเติมน้ำตาลและนมเล็กน้อยเพื่อเพิ่มรสชาติ แต่ยังคงคุณค่าทางโภชนาการจากโกโก้อยู่ เช่น ดาร์กช็อกโกแลตที่มีปริมาณโกโก้สูง (70% ขึ้นไป)

– ช็อกโกแลตแท่งผสมรสปรุงแต่ง (Ultra Processed Food)

ช็อกโกแลตในรูปแบบนี้มักเป็นช็อกโกแลตนมที่เติมน้ำตาลและสารปรุงแต่งรส เช่น รสสตรอเบอร์รี่หรือคาราเมล และอาจมีการเติมสารกันบูด สารให้สี และไขมันอื่น ๆ เพื่อเพิ่มรสชาติและเนื้อสัมผัส ซึ่งทำให้สูญเสียคุณค่าทางโภชนาการของโกโก้ไปบางส่วน


เอาใกล้ตัวมากขึ้นไปอีกขั้นนะ

3. ข้าวกล้อง > ข้าวขาว > ข้าวผัดไส้กรอกแช่แข็ง

– ข้าวกล้อง (Real Food/Whole Food)

ข้าวกล้องเป็นข้าวที่ยังคงชั้นของรำข้าวและจมูกข้าวไว้ ทำให้มีสารอาหารและใยอาหารสูง โดยไม่มีการขัดสีใด ๆ

– ข้าวขาว (Processed Food)

ข้าวขาวผ่านการขัดสีเพื่อให้เม็ดข้าวดูสวยงามและปรุงง่ายขึ้น แม้ว่าจะสูญเสียสารอาหารบางส่วนไปกับการขัดสี แต่ก็ยังถือว่าเป็นอาหารที่ผ่านการแปรรูปเบื้องต้น (เห้อ ปกติเราก็ชอบกินข้าวขาวซะด้วย เวลากินไรซ์เบอร์รี่กับพวกข้าวกล้อง ไม่ค่อยชอบเลยแห่ะ 🤧 ทีมข้าวขาวคร้าบ)

– ข้าวผัดไส้กรอกแช่แข็ง (Ultra Processed Food)

ให้นึกถึงข้าวกล่องพร้อมเวฟตามร้านสะดวกซื้อนะ แน่นอนว่าเหตุผลคล้าย ๆ กันกับข้อบน


4. ขนมปังโฮลวีท > ขนมปังขาว > ขนมปังสำเร็จรูปแบบสอดไส้/โรยน้ำตาล

เพื่อลดทอนความยาว เหตุผลเดียวกับข้าวเลย
และตัวเราเองก็ดันชอบขนมปังขาว ๆ หอม ๆ นุ่ม ๆ ฮืออ 🤧🤧


อ่านถึงตรงนี้ เพื่อน ๆ จะเห็นได้เลยว่า UPF มันอยู่รอบตัวเราจริง ๆ

ถ้าพูดถึงการกินของเรา 3 มื้อของเราแทบจะเป็น UPF ไปหมดเลยละ ยกเว้นแต่กาแฟ เพราะเราชอบกินแค่กาแฟดำ

ชวนอ่านเพิ่มเติม -  ปลาทูน่าหรือปลามากูโระของญี่ปุ่น ส่วนไหนเรียกว่าอะไรกันบ้างนะ ?
Ultraprocessfood 3 Infostory

ชวนคิด ตกลงแล้ว UPF เป็นพระเอกหรือตัวร้ายกันแน่นะ ?

ตรงนี้ เราขอชวนคิดเป็น 2 ทีมนะ เพราะไม่ต้องการฟันธงว่า ฝั่งไหนถูกหรือผิด
เพราะฝั่งพระเอก (ทีมเห็นชอบขรั่บ) ก็มีเหตุผลพอที่จะทำให้อาหารกลุ่ม UPF เกิดความจำเป็นและต้องมีอยู่ ขณะที่ฝั่งตัวร้าย (ทีมฝ่ายค้านครับท่านประธาน) ก็ผลกระทบที่ตามมาจากการที่เราเสพติดความสนุก ความเพลิน ความสะดวกง่ายกันจนชิน

ความเห็นที่เราสรุปมาอาจไม่ได้ครอบคลุมทั้งหมดนะ ไปลองอ่านกันเลย !

[ ทีมฝั่งพระเอก (ทีมเห็นชอบขรั่บ) - UPF คืออาหารแห่งอนาคต ! จะกลัวอะไรนักหนา" 🤵]

– ทานได้สะดวกสบายทุกที่และราคาเข้าถึงง่าย เหตุผลเดิม ๆ ของเจ้าของธุรกิจแสวงหากำไรเนอะ

– ช่วยลดการบริโภคทรัพยากรสัตว์
ต้องบอกว่า UPF ไม่ได้เป็นตัวร้ายเพียงอย่างเดียว เพราะ UPF หลายประเภทได้พัฒนาเป็นอาหารที่ใช้โปรตีนจากพืชหรือแหล่งอื่นที่ไม่ใช่เนื้อสัตว์ เช่น เนื้อสัตว์เทียม (Plant-Based Meat) ซึ่งช่วยลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากอุตสาหกรรมปศุสัตว์ เป็นต้น

– เข้านวัตกรรมวิทยาศาสตร์ด้านอาหารที่มีคุณภาพได้
แน่นอนว่าตอนนี้การใช้เทคโนโลยีทุกอย่างกับอาหาร(ที่ไม่ใช่เทคนิคการปรุงอาหารนะ) จะถูกจัดไปอยู่ในทีม UPF ทันที

– รองรับความต้องการเฉพาะทางด้านโภชนาการ
อันนี้จะเป็นในกลุ่มผู้ป่วยหรือผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่แพ้อาหารบางชนิด

💭 ชวนคิดอีกหนึ่งจุด เพื่อน ๆ ที่เพิ่งผ่านน้ำท่วมมาหมาด ๆ อาจพอเข้าใจถึงบทบาทพระเอกของอาหาร UPF ได้ดี เพราะเหมาะสำหรับการบริโภคในยามฉุกเฉินหรือในพื้นที่ที่ขาดแคลนอาหาร แต่การบริโภคในปริมาณมากและบ่อยครั้งอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ

[ ทีมฝั่งตัวร้าย (ทีมฝ่ายค้านครับท่านประธาน) - UPF นี่มันภัยเงียบรอบตัวเราเลยนินา.. 😱]

– กระบวนการแปรรูปใน Ultra Processed Food
– การใช้สารปรุงรส สารกันบูด สีสังเคราะห์
– การเพิ่มน้ำตาล ไขมันทรานส์
– การใช้ส่วนผสมที่ไม่ใช่อาหารธรรมชาติ
– พลังงานสูง แต่สารอาหารต่ำ
– เสี่ยงต่อโรคเรื้อรังต่าง ๆ
– เกิดการเสพติดความอร่อย และความหิวเพิ่ม

ไม่ต้องอธิบายในฝั่งตัวร้ายเพิ่มเลย เพราะเหตุผลด้านบนที่สรุปมาค่อนข้างอธิบายตัวเองได้ชัด

[ ทำไม UPF อาจเป็นภัยเงียบต่อสุขภาพเราได้ละ ? ]

ต้องบอกว่าเรื่องราวตรงนี้ ยังคงเป็นเพียงแค่งานวิจัย การวิเคราะห์ของสื่อเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ ไลฟ์สไตล์ต่าง ๆ และผู้เขียนหนังสือใน reference ที่เราอ่านมา

คืองี้ นอกจากส่วนประกอบต่าง ๆ แล้ว กระบวนการแปรรูปอาหารเองก็อาจมีบทบาทในการที่ร่างกายตอบสนองต่ออาหารนั้น ๆ ตัวอย่างเช่น มีงานวิจัยพบว่าเมื่อเราบริโภคถั่วในรูปแบบธรรมชาติ ร่างกายจะดูดซึมไขมันจากถั่วได้น้อยกว่าการบริโภคถั่วที่ผ่านการบดละเอียด

ซึ่งเจ้าน้ำมันในถั่วจะถูกปล่อยออกมามากกว่าเมื่อถั่วถูกบด ทำให้ร่างกายดูดซึมไขมันมากขึ้น นี่แสดงให้เห็นว่าการแปรรูปอาหารสามารถเปลี่ยนวิธีที่ร่างกายย่อยและดูดซึมสารอาหารได้

อีกทฤษฎีหนึ่งที่เราอ่านมาจากหนังสือ “Food for life” ของ Tim Spector (มีแปลไทยแล้วนะ) คือ เจ้าไมโครไบโอม (Microbiome) หรือจุลินทรีย์ในลำไส้ ก็มีความเชื่อมโยงกับอาหารที่เรารับประทาน ซึ่งส่งผลถึงทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต โดยอาหารแปรรูปขั้นสูง (UPF) มักขาดใยอาหารที่มีประโยชน์ต่อจุลินทรีย์ในลำไส้ และทำให้แบคทีเรียที่ไม่ดีเจริญเติบโตแทน ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงของโรคเรื้อรังต่าง ๆ

การบริโภคอาหารแปรรูปขั้นสูงเป็นประจำอาจทำให้ไมโครไบโอมอ่อนแอลง เนื่องจากอาหารเหล่านี้มักขาดใยอาหารและมีสารเคมีที่ไมโครไบโอมไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ สารเติมแต่งบางชนิดใน UPF อาจส่งผลกระทบต่อความหลากหลายของจุลินทรีย์ในลำไส้ ซึ่งจะทำให้การย่อยอาหารและการดูดซึมสารอาหารมีประสิทธิภาพลดลง นำไปสู่การอักเสบและอาการทางเดินอาหารที่ไม่พึงประสงค์

.

หรือยกตัวอย่างอีกไม่รู้จะลึกกว่าเดิมไหม แต่ตอนเราอ่านเราพอจะเข้าใจถึงเหตุผลของคุณ Tim Spector เลยนะ (แล้วเราก็ไปหาเพิ่มมาอีกนิดนึง)

คือ คุณ Tim บอกว่าการย่อยอาหารที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละคนมีส่วนเกี่ยวข้องกับ ยีน (Genes) ของเรา ซึ่งทำให้ร่างกายของแต่ละคนมีปฏิกิริยาต่ออาหารต่างกัน ขึ้นอยู่กับพันธุกรรมที่เราสืบทอดมา และงานวิจัยด้านโภชนพันธุศาสตร์ (Nutrigenomics) ได้แสดงให้เห็นว่า ยีนบางชนิดสามารถมีอิทธิพลต่อการเผาผลาญอาหาร การดูดซึมสารอาหาร และแม้แต่ความไวต่อรสชาติ ซึ่งจะมีผลต่อสุขภาพและน้ำหนักตัวในระยะยาว

ยีนบางชนิดส่งผลต่อการเผาผลาญคาร์โบไฮเดรตในอาหาร เช่น ยีน AMY1 ที่ควบคุมการผลิตเอนไซม์อะไมเลส (Amylase) ซึ่งใช้ในการย่อยแป้ง หากมียีนนี้ในปริมาณมาก ร่างกายก็จะผลิตเอนไซม์นี้มากขึ้น ทำให้สามารถย่อยคาร์โบไฮเดรตได้ดีกว่า และส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดคงที่ ในขณะที่บางคนที่มียีนนี้น้อยกว่าอาจมีปัญหาในการย่อยแป้ง ทำให้มีความเสี่ยงในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ยากขึ้น

หรือยีน LCT ควบคุมการผลิตเอนไซม์แลคเตส (Lactase) ซึ่งใช้ในการย่อยน้ำตาลแลคโตสในนม
และยีนบางชนิด เช่น FTO และ APOA2 สามารถมีอิทธิพลต่อการเก็บไขมันและความเสี่ยงในการเกิดโรคอ้วน

.

ทีนี้ ประเด็นคือว่า คุณ Tim เขาอยู่ฝั่งที่มองว่า UPF เป็นตัวร้ายยยย !!!

เพราะการตอบสนองของยีนในตัวเราต่ออาหาร UPF ที่มันจะทำให้เกิดโรคเรื้อรัง คือมันอาจจะเป็นประมาณนี้ (อย่าพึ่งเชื่อโดย 100% นะคร้าบ)

ยีนบางชนิดมีบทบาทสำคัญในการกำหนดวิธีที่ร่างกายจัดการกับไขมันและน้ำตาล ซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักใน UPF เช่น ยีน APOA2 และ PPARγ โดยคนที่มียีนนี้อาจมีการเผาผลาญไขมันทรานส์และไขมันอิ่มตัวได้ไม่ดีเท่ากับคนที่ไม่มียีนเหล่านี้ ทำให้เกิดการสะสมของไขมันในร่างกายง่ายกว่าและเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง และไขมันในเลือดสูงเมื่อบริโภค UPF เป็นประจำเบาหวานได้

หรืออย่างคนที่มียีน GSTM1 และ GSTT1 ยีนเหล่านี้มีส่วนในการกำจัดสารพิษออกจากร่างกาย คนที่ขาดยีนนี้อาจมีปัญหาในการขับสารเคมีและสารเติมแต่งออกจากร่างกายได้ดีเท่ากับคนอื่น ๆ ทำให้มีการสะสมของสารเคมีและสารพิษในร่างกายได้ง่ายขึ้น ซึ่งอาจทำให้เกิดการระคายเคืองในระบบทางเดินอาหารหรือมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรัง

.

🥲🥲 โอ้ยยยยย ! หากเพื่อน ๆ อ่านจนถึงตรงนี้ เราขอกราบคารวะทุกท่าน 1 จอก ทุกท่านคงรักในการอ่านบทความของเราจริง ๆ 🙇‍♂️

ช่วยกดไลค์ที่ภาพนี้เพื่อให้เราทราบหน่อยว่ายังมีเพื่อน ๆ อ่านถึงตรงนี้กัน จะได้ชุ่มชื่นหัวใจสักนิดคร้าบผม 🥺🙏

ว่าแต่ …. แล้วเพื่อน ๆ คิดว่ายังไงกับเรื่องนี้กันบ้างนะ ? 🤓

ลดละเลิก หรือ ควรปรับตัวอยู่ร่วมกันดี ?

คำถามที่น่าสนใจที่เราเองก็ยังคงสงสัยอยู่ (หมายถึง ปัจจุบัน ณ เวลาที่เขียนนี้ละ ที่ยังคงสงสัยค้างอยู่ 555)

คือเราคิดว่าสำหรับเพื่อน ๆ ที่เป็นสายมนุษย์เงินเดือน ต้องเข้าทำงานตรงเวลา และด้วยชีวิตที่เร่งรีบอยู่ตลอดในวันทำงาน มันก็แทบจะเลี่ยง UPF ได้ยากมาก จะเอาเวลาไหนไปเลือกวัตถุดิบมาเตรียมอาหารเองละเนอะ…

อะ เดี๋ยวในภาพนี้เรามาคุยกันเบา ๆ ถึงสิ่งที่ตัวเราเองก็ยังสงสัย แต่พอสรุปแนวคิดจากในหนังสือมา และหวังว่าเราเองก็จะลดละอาหารประเภท UPF ได้บ้าง

ชวนอ่านเพิ่มเติม -  "ปลาญี่ปุ่น" ยอดนิยมในเมนูซาชิมิและซูชิ หน้าตาเป็นยังไงกันบ้างนะ ?

[ รู้ทัน 7 ส่วนผสมจากอาหาร "UPF" ที่อาจเป็นภัยเงียบของสุขภาพ ]

คืองี้ ก่อนที่เราจะไปคุยกันเรื่องการลดละ หลีกเลี่ยง คงต้องพูดถึงส่วนผสมสำคัญในอาหารแบบ UPF ก่อนเนอะ ไล่มาเลยละกัน

1. น้ำตาลเติม (Added Sugars)
อันนี้รู้ๆกันอยู่แล้วเนอะ

2. เกลือ/โซเดียมสูง
อันนี้ก็ด้วยเนอะ

3. ไขมันทรานส์ (Trans Fats)
โดยเฉพาะพวกขนมอบ/ทอดกรอบ คุกกี้ (ของชอบเราหมดเลยแม่เจ้า 😖)

4. สารปรุงแต่งรส (Artificial Flavorings)

(ก็มันอร่อยนินาาาา 🥴 แต่ถ้าเรากินไม่ได้เกินปริมาณที่เค้ากำหนด อย่างเช่น MSG ที่เถียงกันในโพสต์ก่อนหน้าโน้นเนอะ ว่าร้านค้าเวลาใช้ เทแทบจะหมดถุง..อันนี้ก็ใช้ไม่ตรงตามฉลาก😰)

5. สีสังเคราะห์ (Artificial Colors)

ถึงแม้ว่าหลายที่จะบอกว่าไม่ได้ใส่ก็ตาม…แต่ขนมบางถุงก็ไม่น่าเชื่ออยู่ดี 😂

6. น้ำมันปาล์ม (Palm Oil)

น้ำมันปาล์มเป็นแหล่งไขมันอิ่มตัวราคาไม่สูง เหมาะกับการใช้เพื่อลดต้นทุนของผู้ผลิต (ฮั่นแหน่ะ..ขนมอบกรอบหลายแบรนด์ก็น้ำมันปาล์มนี่ละ… แต่เราก็อร่อยกับมันนะ 🤣)

7. สารกันบูด (Preservatives)

สารกันบูดเนี่ย เพื่อน ๆ ลองหยิบพายข้าวโพดหรือขนมปังในร้านสะดวกซื้อมาดูฉลาก

เพื่อน ๆ น่าจะเห็นตัวย่อคือ INS ตามด้วยตัวเลข เช่น INS941 INS551
คือไม่ต้องเป็นแซนด์วิชอะไรขนาดนั้นหรอก แค่น้ำผลไม้กล่อง หรือ นมกล่อง ก็น่าจะเห็นแล้วละ หรืออะไรก็ได้ในครัวที่ไม่ใช่ของสด หยิบมาเจอหมดทุกอัน (ของเราก็ด้วย 🤣)

[ 🤯🌋คำถามโลกแตก - เมื่อชีวิตประจำวันที่เร่งรีบแล้วต้องพึ่ง "UPF" แล้วจะทำยังไงดี ? ]

อันนี้จะแบ่ง solution ที่รวบรวมมาจากหนังสือแต่ละเล่ม + คหสต. แบบเรียล ๆ นะ 🥲

✅ทำอาหารเองให้บ่อยขึ้น
ง่าย ๆ คือ เราคุมส่วนผสม วัตถุดิบและโภชนาการได้ แต่ก็นะ…แพงอยู่
กำลังพยายามทำ แต่ไม่ง่ายเท่าไร

✅อ่านฉลากโภชนาการอย่างระมัดระวัง

อันนี้ขอบ่น บ่นตัวเองนี่ละ 🤣
คือ ขนมหลายอย่างเขาจะมีคำเตือนอารมณ์แบบ ปริมาณบริโภคแนะนำต่อวัน 1 serving
แล้ว ความกวนบาทา ก็คือ 1 serving = ¼ ของขนมถุง
¼ ของขนมถุง = กินได้ 4 ชิ้นครึ่ง….
เอ่อ เอ้าาาา ยังไง…กินขนมมันก็ติดลมแน่นอน 4 ชิ้นไม่เคยพอ ครึ่งถุงว่าไปอย่าง 🤣

✅เลือกทานของว่างที่มีประโยชน์
ถั่วอบแห้ง ผลไม้สด หรือโยเกิร์ตธรรมชาติ หรือพวกอาหารที่ใยอาหารสูง
อันนี้เราพอทำได้ ก็ลดละขนมกรอบแกร่บ อาจจะกำหนดว่ากินได้แค่กี่ถุงต่อสัปดาห์แทน เมื่อก่อนกินทุกวันให้ตายเถอะ 🥺

✅เลือกอาหารที่มาจากธรรมชาติหรือแปรรูปน้อย

คือ ตรงนี้ ท้ายที่สุดในหนังสือหลาย ๆ เล่มที่เราอ่านมา เขาไม่ได้บอกแนวลัทธิที่ว่าห้ามกิน Processed food เลยนะ
เพราะสุดท้ายทุกคนที่เป็นคนเขียนหนังสือ เค้าก็ยังคงกินกันอยู่ดี แต่แค่รู้ตัว มีสติในการกินมากขึ้น รู้ว่าอะไรมากไป รู้ว่าเราควรต้องกินผัก 1 กำมือต่อวัน กินผลไม้ที่น้ำตาลไม่สูงมาก (อย่างเราชอบกินองุ่นมาก องุ่นเป็นข้ออ้างที่ทำให้เราอยากกินผลไม้…แต่มันดันเป็นหนึ่งในผลไม้ที่น้ำตาลสูงมาก ซะงั้น 😂 ทรมานจังเลยเรา)

.

[ ✨โอกาสและอนาคตของ UPF (ในทางที่ดี) ]

อะ ไหน ๆ มันก็หนีไม่ได้ละ เราทำได้แค่หวังว่านวัตกรรมของทำให้อาหารในกลุ่ม UPF เป็นมากกว่าแค่อาหารแสวงหาผลกำไรทางธุรกิจ 🤓

💡 เนื้อสัตว์เทียมจากพืช (Plant-Based Meat) ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
💡 นวัตกรรมที่อาจไม่ต้องใช้สารปรุงแต่ง
💡 อาหารที่เหมาะกับผู้สูงวัย เจาะลึกทางโภชนาการ

เราคิดว่าในอนาคตหลายอย่าง เราคงต้องพึ่งพี่ ๆ อาหาร UPF แบบเลี่ยงไม่ได้ (แค่ยังไม่ใช่ตอนนี้)

.

🙇‍♂️ ทิ้งท้ายด้วยความในใจ จากคนที่ยังไม่สามารถเลี่ยง UPF ได้

ถึงแม้จะรู้คุณ-โทษ ของ UPF กันพอสังเขปแล้ว 🤧
แต่สารภาพอีกนิด คือเราเองเป็นคนที่ติดขนมกรุบกรอบมาก แล้วก็ติดข้าวกล่องร้านสะดวกซื้อ คือมันไม่น่าเบื่อดี แถมอร่อย แต่ก็กลัว 555 paradox of choices มาก

พอเริ่มมาสนใจเรื่องตรงนี้ ก็แอบรู้สึกแย่เบา ๆ แต่มันก็คือความสุขของชีวิตนะ ส่วนตัวเราคิดว่าแค่ balance มันให้ได้ จากเดิมที่เรากินครบ 3 มื้อ + ของว่างขนม เรียกได้ว่า UPF Daily เลยทีเดียว เราก็ต้องปรับลดมา อาจจะตัดขนมกรุบกรอบออกไป กินผลไม้แทน หรือ กินแค่อาทิตย์ละ 2 ถุง (เยอะไปไหมนะ 555 แต่คนมันชอบงะ 🤧)

สุดท้ายนี้ขอให้เพื่อน ๆ หาจุดสมดุลของชีวิตให้เจอกันน้า ทั้งเรื่องงาน เรื่องไลฟ์สไตล์ เรื่องอาหารการกิน เรื่องออกกำลังกาย ถ้าเพื่อน ๆ รู้สึกว่ายังหาสมดุลไม่เจอ ไม่เป็นไร เราเพื่อนกัน เราก็ยังหาไม่เจอ 🤣 แต่มาพยายามไปด้วยกันนะ 🥰🙏

แหล่งอ้างอิงเพิ่มเติม
– หนังสือ Unprocess Your Life เขียนโดย Rob Hobson
– หนังสือ Food for Life เขียนโดย Tim Spector
– หนังสือ How Not to Eat Ultra-Processed เขียนโดย Nichola Ludlam-Raine
– หนังสือ Unprocessed: How the Food We Eat Is Fuelling Our Mental Health Crisis เขียนโดย Kimberley Wilson