เวลาที่เราแวะไปตามห้างเนี่ย ส่วนใหญ่ก็จะเจอกับร้านขนมปังหรือเบเกอรีที่สุดจะคุ้นตา
บางแห่งก็มีชื่อคล้ายฝรั่งเศส แต่สไตล์ของขนมปังเหมือนญี่ปุ่น…
บางร้านก็ขายแต่ครัวซองต์เหมือนส่งตรงมาจากฝรั่งเศสเลย…แต่ว่าเป็นแบรนด์ที่ก่อตั้งในไทย
งั้นวันนี้พวกเรา BrandStory ขอหยิบเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย นำมาเล่าให้เพื่อน ๆ อ่านกันเพลิน ๆ ในวันหยุด
ปล. ในภาพพวกเราไม่สามารถหยิบทุกแบรนด์ที่พบในห้างมาได้นะคร้าบ ค่อนข้างแน่นมาก ไว้จะทำตอนต่อไปมาให้รับชมแทนนะคร้าบ
— — — — — — — — — — — — — —
[ “Yamazaki” เจ้าพ่อร้านขนมปังญี่ปุ่นประจำห้างไทย ]
ต้องบอกก่อนว่าฉายาเจ้าพ่อ เราตั้งขึ้นมาเองนะคร้าบ
เพราะว่าเวลาไปห้างใหญ่ ๆ ก็มักจะเจอเชนร้านขนมปังที่อยู่ในเครือนี้เสมอ ๆ เช่น
– Yamazaki
– Sun Moulin Royal
– Saint Etoile
– FlavorField
– Saison du Soleil
– Chez Récamier
ชื่อแบรนด์ลูกของเค้าเนี่ย ออกไปทางฝรั่งเศสซะเยอะเลย
แต่แบรนด์นี้มีต้นกำเนิดมาจากญี่ปุ่นนะคร้าบ
แล้วมันมีที่มาที่ไปยังไงนะ ?
เรื่องราวสั้น ๆ ของแบรนด์นี้ คือ..
“Yamazaki” ก่อตั้งขึ้นในประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี 1948 โดยคุณโทจูโร อิจิมะ
ในช่วงนั้นกระแสวัฒนธรรมของชาวตะวันตกเนี่ย ก็เข้ามาแพร่หลายในญี่ปุ่น โดยเฉพาะช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เนี่ย ขนมปังของชาวตะวันตก (พวกขนมปังสไตล์ยุโรป) ก็เข้ามามีบทบาทสำคัญสำหรับปากท้องของคนญี่ปุ่น
คุณโทจูโร เห็นว่าขนมปังสไตล์ยุโรปเริ่มเป็นที่นิยมของคนญี่ปุ่น เค้าจึงรีบคว้าโอกาสทอง เปิดบริษัท Yamazaki ผลิตขนมปังญี่ปุ่นสไตล์ยุโรปไปในทันที
หลังจากนั้นอีก 3 ปี คุณโทจูโรก็เริ่มขยายผลิตภัณฑ์มายังตลาดขนมหวาน เช่น ลู฿กกวาดและเค้ก
หลังจากนั้นอีก 5 ปี ขนมปังและขนมหวานของคุณโทจูโรก็ขายดีเทน้ำเทท่า
คุณโทจูโรจึงเริ่มการขยับขยายบริษัทขนมปังของเค้าขึ้นไปอีกระดับ โดยเตรียมเปิดเป็นร้านขนมปังแบบค้าปลีก
แต่คราวนี้คุณโทจูโรก็ได้โอบกอดเทคโนโลยีการผลิตขนมปังของทางยุโรปและอเมริกา นำเข้ามาใช้งาน (คือ ไหน ๆ ก็มาสายขนมปังฝรั่งแล้ว ก็ไปให้สุดไปเลยย ประมาณนี้)
การถีบตัวนำเทคโนโลยีของชาวยุโรปเข้ามา ทำให้คุณโทจูโรสามารถต่อยอดขยายผลิตภัณฑ์ขนมปังได้หลายรูปแบบ เช่น ขนมปังแบบปรุงสุก, แซนวิชในรูปแบบต่าง ๆ, ขนมปังที่สามารถเก็บไว้ได้นาน
เพื่อน ๆ ทราบไหมว่า ตั้งแต่คุณโทจูโรตั้งบริษัทขนมปังเล็ก ๆ ของเค้าขึ้นมา
ภายในระยะเวลา 18 ปีเท่านั้น (หรือในปี 1966) บริษัท Yamazaki ก็สามารถเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์โตเกียวได้สำเร็จ
ความสำเร็จจนถึงตอนนี้ต้องบอกว่า แบรนด์ Yamazaki ยังขายได้แค่ในประเทศญี่ปุ่นเท่านั้นนะ
จนกระทั่งในปี 1977 แบรนด์ Yamazaki ก็ได้เริ่มขยายออกไปต่างประเทศเป็นครั้งแรก
โดยเริ่มจากที่เมือง Los Angeles โดยเจาะไปที่ย่านชุมชนชาวญี่ปุ่น
พอเปิดได้แล้ว ก็เหมือนเค้าเริ่มติดลมบน ขยายสาขาตีตลาดต่างประเทศต่อยาว ๆ
อย่างเช่น ในปี 1984 เปิดที่ฮ่องกง ไทนย และไต้หวัน
หรือแม้กระทั่งตลาดขนมปังที่ประเทศฝรั่งเศส แบรนด์ Yamazaki ก็เข้าไปเปิดสาขาในช่วงปี 1988
กลยุทธ์สำคัญคือ บุกตลาดประเทศที่มีชาวญี่ปุ่น และประเทศที่เป็นต้นตำรับสูตรขนมปังของแบรนด์ Yamazaki
อย่างของฝรั่งเศสเอง เพื่อน ๆ ทราบไหมว่า แบรนด์ Yamazaki ได้ซื้อโรงเรียนสอบทำธึรกิจเบเกอรรี่ของฝรั่งเศสที่ชื่อว่า “Vie de France” ควบรวมเข้ากับแบรนด์ตัวเองเป็น “Vie de France Yamazaki”
ที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือ Yamazaki ใช้ความได้เปรียบของการครอบครองธุรกิจเบเกอรีจากฝรั่งเศส กลับมาตีตลาดเบเกอรีในญี่ปุ่น (คือ ผนวกจุดเด่นของขนมปังฝรั่งเศส กลับมาตีตลาดแย่งส่วนแบ่งในบ้านเกิดของตัวเอง)
พวกเราเข้าใจว่านอกจากทำขนมปังและร้านเบเกอรีแล้ว แบรนด์ Yamazaki เค้ายังทำพวกธุรกิจข้าวกล่องญี่ปุ่นอีกด้วยนะ (และคงมีธุรกิจอื่น ๆ ภายใต้แบรนด์อีก)
ไม่แปลกที่บริษัทขนมปังที่เกิดจากชายญี่ปุ่น ผู้โอบกอดความต่างวัฒนธรรม ในช่วงที่เศรษฐกิจซบเซาหลังสงครามโลก จะกลายมาเป็นบริษัทเบเกอรี่ระดับโลกได้อย่างในทุกวันนี้
— — — — — — — — — — — — — —
[ PAUL และ LADURÉE สองแบรนด์นำเข้าจากฝรั่งเศส ที่มีเจ้าของคนเดียวกัน ]
ถ้าพูดถึงแบรนด์ขนมปังฝรั่งเศสในไทย… เพื่อน ๆ จะนึกถึงแบรนด์อะไรกันบ้าง ?
เราค่อนข้างมั่นใจว่า “PAUL” น่าจะเป็นร้านแรก ๆ ที่เพื่อน ๆ คงจะนึกถึง
แล้วถัาขนมหวานฝรั่งเศสอย่างมาการองละ ?
เราจะนึกถึงแบรนด์ไหนกัน…
ขอตอบแทนว่า คงเป็นแบรนด์ LADURÉE
( เข้าใจว่าคงเป็นที่รู้จักสำหรับเพื่อน ๆ บางกลุ่ม และที่ต้องขอตอบแทนแบบนี้ เพราะเดี๋ยวเราต้องเชื่อมเรื่องราวคร้าบ แห่ะๆ )
แล้วเพื่อน ๆ ทราบไหมว่า ?
เจ้าของเชนร้านขนมปังฝรั่งเศส “PAUL” เป็นเจ้าของเดียวกันกับ “LADURÉE”
เจ้าของที่ว่าคนนี้ มีชื่อว่า “Francis Holder” แห่งบริษัท “Groupe Holder”
เรื่องราวสั้น ๆ คือ
คุณฟรานซิส เกิดที่เมือง Lille ทางตอนเหนือของฝรั่งเศส
โดยครอบครัวของเค้าทำธุรกิจอบขนมปัง
ในตอนนั้นเอง คุณพ่อของคุณฟรานซิสกำลังจะตัดสินใจซื้อร้านอบขนมปังที่มีชื่อว่า “PAUL”
หลังจากที่คุณพ่อของเค้าซื้อแบรนด์ PAUL ไปได้ไม่นาน.. ก็เสียชีวิตลง
คุณฟรานซิสเลยต้องแบกภาระร้านอบขนมของคุณพ่อที่ยังไม่เป็นรูปเป็นร่างตั้งแต่อายุ 18 ปี
เส้นทางของเค้า ไม่ได้เรียบง่าย
เพราะคุณฟรานซิสต้องไปเข้าสงครามที่แอลจีเรีย
หลังผ่านสงคราม เค้าก็ต้องกลับมารับผิดชอบธุรกิจครอบครัวต่อ
สิ่งหนึ่งที่เรารู้สึกว่ามี คุณฟรานซิส มีความคล้ายกับคุณโทจูโร คือ การมองเห็นโอกาส หาช่องทางใหม่ให้กับธุรกิจของตัวเอง
คือ ธุรกิจขนมปังหรือเบเกอรีในฝรั่งเศส มันก็ค่อนข้างทั่วไปมาก ๆ (อารมณ์แบบเปิดร้านข้าวผัดกะเพราในบ้านเรา อันนี้เปรียบเปรยนะคร้าบ)
สิ่งที่คุณฟรานซิสมองเห็นโอกาส คือ พฤติกรรมการบริโภคของชาวฝรั่งเศส เริ่มเปลี่ยนไป
ผู้คนไม่ได้เข้าไปคาเฟ่เพื่อเลือกซื้อขนมปังแบบในสมัยก่อน
แต่เลือกที่จะเข้า Supermarket แทน…
คุณฟรานซิสจึงได้ทำการปรับเปลี่ยนธุรกิจร้าน “PAUL” ของคุณพ่อ เป็นธุรกิจโรงงานอบขนมปัง
และเปลี่ยนกลยุทธ์มุ่งเป้าให้ขนมปังของเขา สามารถวางขายในห้างใหญ่ ๆ ได้ (เช่น Monoprix, Auchan และห้างใหญ่ตามหัวเมืองต่าง ๆ)
ก่อนที่ในเวลาต่อมา เขาจะเริ่มต่อยอดพัฒนาในส่วนของร้านเบเกอรีและคาเฟ่
(คือ เข้าใจว่าปกติเค้าน่าจะเริ่มจากร้านคาเฟ่ เบเกอรี่ก่อน ให้คนคุ้นเคย แล้วค่อยมาทำขายในร้านค้าปลีก แต่สำหรับคุณฟรานซิส กลับเลือกในวิธีที่แตกต่างกัน)
จากนั้นในปี 1993 คุณฟรานซิสก็ได้ทำการซื้อแฟรนไชส์ร้านขนมหวาน “LADURÉE” นั่นเองคร้าบ
— — — — — — — — — — — — — —
สำหรับ แบรนด์เบเกอรี่ไทย ที่มีชื่อชวนเข้าใจว่าเป็นของต่างประเทศ
ไม่มั่นใจว่าเป็นแค่เราหรือเปล่าที่เคยเข้าใจว่าแบรนด์เบอเกอรี่อย่าง Paris Mikki, Gateaux House เป้นแบรนด์ต่างประเทศ…. ทั้งที่จริงแล้ว เป็นของคนไทยนะคร้าบบบ
จริง ๆ อีกหนึ่งแบรนด์ที่เราเข้าใจว่าเป็นของญี่ปุ่นอยู่ตลอดมา คือ Toraya Bakery
คือ ร้านขนมปังร้านนี้สาขาทองหล่อ 13 เนี่ย ส่วนใหญ่จะเจอแต่ญี่ปุ่นมาซื้อ ซึ่งแบรนด์นี้…ก็เป็นของคนไทยนะคร้าบ
นอกจากนี้แล้ว ก็ยังมีร้านเบอเกรี่ที่อาจเรียกได้ว่าเป็นเบเกอรี่สไตล์ญี่ปุ่นสัญชาติไทย ที่ก่อตั้งโดยชาวญี่ปุ่น อย่างเช่น Shirokumaya Bakery และ Custard Nagamura (ซึ่งพวกเราก็เคยเข้าใจผิดว่าเป็นเชนเบเกอรี่จากญี่ปุ่นมาตลอด )
.
แหล่งอ้างอิงเพิ่มเติม (ขอขอบคุณข้อมูลจาก)
- เว็ปไซต์ Yamazaki
- บทความ กรณีศึกษา Yamazaki บริษัทขายขนมปังอบ ที่ใหญ่สุดในโลก เพจ BrandCase
- บทความ Yamazaki เส้นทางอาหาร-เบเกอรี่ที่ยิ่งใหญ่จากญี่ปุ่น จากเว็ปไซต์ Marketeeronline
- บทความ ฟรานซิส โฮลเดอร์: ผู้นวดและอบแบรนด์ PAUL จนเป็นขนมปัง ‘คราฟต์’ ที่หอมอร่อยไปทั่วโลก ของเพจ thepeople
- บทความ รู้จัก Groupe Holder เจ้าของ LADURÉE และ PAUL ของเพจลงทุนเกิร์ล